วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2562

ข่าวที่ 10

นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบว่า ทำไมฉลามถึงได้มารวมตัวกันในสถานที่ปริศนา ในทุกๆ ปี

 

          "White Shark Cafe" หรือ "คาเฟ่ของปลาฉลามขาว" สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง รัฐ Baja California (บาฮากาลิฟอร์เนีย) ประเทศเม็กซิโก กับเกาะฮาวาย และในทุกฤดูหนาว พิกัดนี้จะกลายเป็นแหล่งชุมนุมของฉลามหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ ฉลามขาว, ฉลามสีน้ำเงิน และฉลามมาโก (Mako shark) แต่การที่จะหาคำตอบว่าทำไมพวกมันถึงมารวมตัวกันที่นี่ ต้องใช้เวลายาวนานหลายปี และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบ ทีมงานใช้เวลาร่วมสัปดาห์บนท้องทะเล ลองเดินทางผ่านเส้นทางเดียวกับที่ฉลามใช้เวลาในการเดินทาง 100 วันเพื่อไปยัง White Shark Cafe ซึ่งเป็นการเดินทางที่ยาวนานทีเดียว แต่ในที่สุดก็ค้นพบสิ่งที่คาดว่าน่าจะเป็นคำตอบ และสิ่งที่ทีมงานค้นพบคือ White Shark Cafe ไม่ได้เป็นแค่พิกัดที่เวิ้งว้างว่างเปล่าอีกต่อไป แต่เป็นบ้านของปลาทะเลน้ำลึกที่สามารถปล่อยแสงเรืองได้ ทำให้น้ำทะเลในระดับความลึกที่แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องถึงนั้นมีแสงสว่างขึ้นมาได้ ในทุกๆ วัน ฉลามจะดำน้ำลึก 100 ฟุตเพื่อลงไปหาฝูงปลาที่สามารถส่องแสงสว่างเหล่านี้ เพื่อล่าพวกมัน นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ ยังพบกับพฤติกรรมที่แปลกประหลาด โดยฉลามตัวผู้จะดำน้ำในรูปแบบตัว V และเป็นการทำซ้ำด้วยการดำน้ำในรูปแบบซิกแซ็ก เป็นจำนวนกว่า 140 ครั้งในแต่ละวัน ซึ่งพฤติกรรมนี้ยังเป็นปริศนาว่าพวกมันทำไปทำไม และทำไมเฉพาะฉลามตัวผู้ที่ทำอะไรแบบนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่านี่คือเทคนิคในการล่า หรืออาจะเป็นวิธีในการผสมพันธุ์ก็เป็นได้

ที่มา https://news.thaiware.com/14578.html

ข่าวที่ 9

นักวิทยาศาสตร์เผย ใต้โลกของเรามีเพชรอยู่นับพันล้านๆ ตัน

24 กรกฎาคม 2561


          ผลงานวิจัยล่าสุดจาก สถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซตส์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ MIT (Massachusetts Institute of Technology) โดยการศึกษาพฤติกรรมของคลื่นความถี่เสียง Seismic wave ที่เคลื่อนตัวผ่านเข้าถึงชั้นใต้เปลือกโลก ได้เปิดเผยความจริงในเรื่องSeismic wave สามารถเคลื่อนที่ผ่านวัตถุได้หลากหลายรูปแบบ ทำให้ทีมวิจัยของ MIT ได้จับตามองข้อมูลจาก Seismograph เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ๆ และเริ่มต้นทำการประมาณการ แล้วจึงสรุปผลออกมาว่า มันมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเพชรจำนวนมหาศาล อยู่ลงไปในระดับที่ลึกมากๆ ใต้โลกคาดว่าเพชรจำนวนมหาศาลนี้อยู่ในโซนที่เรียกว่า Cratonic roots ซึ่ง MIT ให้คำจำกัดความว่า มันเป็นชั้นหินเก่าแก่ที่สุดของโลกที่ไม่มีการเคลื่อนที่ไปไหน โดยพื้นที่ที่คาดว่าเป็นกลุ่มก้อนของเพชรนั้น อาจมีขนาดความกว้างได้ถึงร้อยไมล์
          Ulrich Faul จากหน่วยงาน Department of Earth, Atmospheric and Planetary Sciences แห่ง MIT ให้ความคิดเห็นว่า "เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว เพชรไม่ได้เป็นธาตุที่ทรงคุณค่าหรือว่าหายากแต่อย่างใด และเมื่อมองในภาพรวม เพชรก็เป็นแร่ธาตุที่ธรรมดามากๆ และเรายังไม่สามารถเข้าถึงเพชรจำนวนมหาศาลได้ในเวลานี้ แต่ก็แน่นอนว่า บนโลกของเรานั้นมีเพชรในปริมาณมากมายกว่าที่เราเคยคิดกัน"

ข่าวที่ 8

นวัตกรรมโลกตะลึง เข็มทิศควอนตัม ระบบนำทางแบบใหม่ที่ไม่ง้อ GPS

13 พฤศจิกายน 2561


          วิทยาศาสตร์ได้เสนอทางเลือกใหม่สำหรับระบบนำทางที่ไม่ง้อดาวเทียมแล้ว โดยมีการสาธิตการทำงานของสิ่งที่เรียกว่า "เข็มทิศควอนตัม" Quantum compass หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Quantum accelerometer ที่สามารถนำทางพาหนะใดๆ ได้โดยไม่ใช้ระบบ GPS หรือเทคโนโลยีดาวเทียมอื่นใดเลย โดยหลักการทำงานอย่างง่ายๆ ของอุปกรณ์นี้คือ การใช้เลเซอร์เพื่อแช่แข็งอะตอมสู่สภาวะอุณหภูมิต่ำเป็นอย่างมาก โดยอะตอมที่ถูกแช่แข็งนั้นจะมีความอ่อนไหวกับแรงกระทำจากภายนอก ซึ่งก็คือความเร่งจากการเคลื่อนที่ของยานพาหนะ และถ้าเราสามารถวัดคุณสมบัติของคลื่นควอนตัมที่แผ่ออกมาจากอะตอม เราก็จะสามารถวัดความเร็ว ความเร่ง อันเกิดจากการเคลื่อนที่ของยานพาหนะได้


ข่าวที่ 7

NASA เผยภาพระดับก๊าซ CO กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอน

25 สิงหาคม 2562

NASA เผยภาพระดับก๊าซ CO กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอน

          ล่าสุด NASA ออกมาเผยภาพข้อมูลชั้นบรรยากาศโลกที่ระดับความสูง 18,000 ฟุต (หรือ 5.5 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล) จากการเก็บรวบรวมโดยระบบ Atmospheric Infrared Sounder (AIRS) ในดาวเทียม Aqua ของ NASA ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 สิงหาคม โดยภาพข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ชั้นบรรยากาศของโลกได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแอมะซอน อย่างเห็นได้ชัดคือ ระดับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide) เพิ่มสูงขึ้นจนน่าใจหาย และได้กระจายตัวออกไปเป็นวงกว้าง ทาง NASA อธิบายว่า ระดับความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มี 3 ระดับคือ สีเขียวมีความหนาแน่นในชั้นบรรยากาศประมาณ 100 ppbv (หน่วยนับความหนาแน่นของก๊าซ 1 ต่อพันล้าน) ส่วนสีเหลืองอยู่ที่ประมาณ 120 ppbv และสีแดงเข้มอยู่ที่ประมาณ 160 ppbv ซึ่งปกติแล้วมันจะถูกลมพัดพาให้กระจายตัวออกไป และอยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 1 เดือน และเสริมว่าปกติแล้วหากมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อยู่ในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่ยังโชคดีที่ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ของป่าในครั้งนี้ "ไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์สักเท่าไร" เพราะในบริเวณนั้นมีอากาศถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา และตัวก๊าซเองก็ถูกดันจากความร้อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ถึงอย่างนั้นเหตุการณ์ไฟไหมป่าแอมะซอนในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ เพราะตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 62 ที่ผ่านมา มีไฟไหมป่าเกิดขึ้นแล้วกว่า 9,500 จุด ซึ่งมากขึ้นกว่าก่อนหน้าถึงร้อยละ 83 จนทำให้บราซิลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดหรือดีขึ้นแต่อย่างใด

ข่าวที่ 6

นักวิทยาศาสตร์พัฒนา "โดรน" เพื่องานดูแลอาคารแทนมนุษย์

30 เมษายน 2562

gettyimages-454457053(1)

          นักวิจัยที่อังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งโปรแกรมให้โดรนทำงานแทนคนในการทำความสะอาดกระจกของตึกสูงและตรวจสอบสภาพอาคาร เมอร์โค โควัคจาก Federal Laboratories ของสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เพิ่มการทำงานของระบบหุ่นยนต์ ทำให้เกิดการพิจารณาถึงการทำงานของสิ่งปะดิษฐ์นี้ ที่อาจสามรถตอบสนองกับสภาพงานและสถานการณ์ในการก่อสร้างได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดรนจึงอาจทำใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างของอุโมงค์และเหมืองแร่ได้ด้วย เพราะพื้นที่เหล่านี้ เข้าถึงยากและอาจมีความเสี่ยงต่อมนุษย์ นักประดิษฐ์เมอร์โค โควัค กล่าวว่าโดรนจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยมนุษย์ให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น ปลอดภัยกว่าเดิม และใช้งบประมาณน้อยลง

ข่าวที่ 5

ใช้หุ่นยนต์ช่วยในการสร้างยาปฏิชีวนะใหม่

26 กรกฎาคม 2562


          ธรรมชาติถือเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของสารประกอบทางเคมี ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลากหลายชนิด ทว่าสารเคมีที่น่าสนใจที่สุดมักมาจากสิ่งมีชีวิต ทว่านำมาใช้งานได้ยากในห้องปฏิบัติการทดลอง โดยเฉพาะสารประกอบเคมีประเภทพอลิคีไทด์ (polyketides) คือกลุ่มสารเคมีที่สำคัญซึ่งส่วนใหญ่ผลิตโดยแบคทีเรียในดินและจุลินทรีย์อื่นๆ เมื่อเร็วๆ นี้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ เผยความสำเร็จในการสร้างแบคทีเรียลำไส้ที่พบบ่อยเพื่อผลิตยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ด้วยการใช้หุ่นยนต์เข้าช่วย ยาปฏิชีวนะดังกล่าวรู้จักกันในชื่อพอลิคีไทด์ คลาสทู (polyketides Class II) เกิดจากแบคทีเรียในดินตามธรรมชาติและมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย อันมีความสำคัญในอุตสาหกรรมยาสมัยใหม่ที่เชื่อว่าจะนำไปใช้ต่อสู้กับโรคติดเชื้อและโรคมะเร็งได้ การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นศักยภาพของวิธีการรวมเครื่องจักรกลการผลิตแบคทีเรียเข้ากับเอนไซม์จากพืชและเชื้อรา จนเกิดความเป็นไปได้ที่จะสร้างสารประกอบทางเคมีใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในธรรมชาติ และไม่เพียงช่วยให้นักวิจัยทดลองสารพอลิคีไทด์ใหม่ได้แบบอัตโนมัติ แต่ยังจะสามารถเขียนลำดับดีเอ็นเอของเส้นทางการสังเคราะห์ยาปฏิชีวนะได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเผยว่าน่าจะใช้เวลาราว 1 ปีในการสร้างและทดสอบยาปฏิชีวนะที่อาจเกิดขึ้นได้ถึงสิบชนิด

ข่าวที่ 4

นอนน้อยเพียงคืนละ 4 ชั่วโมงไม่อ่อนเพลีย หากมียีนกลายพันธุ์


3 กันยายน 2562

ภาพคนนอนหลับ

          ผลการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Neuron โดยทีมผู้วิจัยระบุว่าคนที่มียีน ADRB1 ชนิดกลายพันธุ์ จะต้องการเวลาเพื่อนอนหลับพักผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ยราว 2 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถนอนหลับเพียงคืนละ 4 ชั่วโมง และตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย กลุ่มผู้มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าวซึ่งมีอยู่น้อยมาก ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีพลังกระฉับกระเฉง ทำงานหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน มองโลกในแง่ดี อดทนต่อความเจ็บปวดได้สูง ไม่มีอาการเจ็ตแล็กจากการโดยสารเครื่องบินข้ามเขตเวลา และอาจจะมีอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไปด้วย ปัจจุบันทีมผู้วิจัยพบการถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์ดังกล่าวใน 50 สายตระกูลเท่านั้น มีการทดลองตัดต่อพันธุกรรมให้หนูมียีน ADRB1 แบบที่กลายพันธุ์เช่นเดียวกับในมนุษย์ แล้วพบว่าหนูดังกล่าวจะนอนน้อยลงโดยเฉลี่ยวันละ 55 นาที ซึ่งแสดงว่ายีนกลายพันธุ์ดังกล่าวทำให้วงจรการนอนหลับตามธรรมชาติของคนและสัตว์หดสั้นลง การนอนน้อยที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเหมือนกับการอดนอนของคนทั่วไป ซึ่งปกติแล้วมักส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญและระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อม โรคมะเร็ง รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย



ข่าวที่ 3

ทีเรกซ์ไม่ใช่สัตว์หัวร้อน เพราะมี "เครื่องปรับอากาศ" ในกะโหลกศีรษะ


6 กันยายน 2562

            แม้รูปร่างที่ใหญ่โตและหน้าตาดุร้ายน่ากลัว แต่ไดโนเสาร์สายพันธ์ุไทแรนโนซอรัส เรกซ์ หรือ "ทีเรกซ์" ที่เรารู้จักกันดี คงจะไม่ใช่สัตว์ที่มีอารมณ์พลุ่งพล่าน หรือหัวร้อนอยู่ตลอดเวลา! เพราะล่าสุดมีการค้นพบว่า ช่องโหว่ขนาดใหญ่ 2 รูในกะโหลกศีรษะส่วนบนขงมัน สามารถทำหนาที่เป็น "เครื่องปรับอากาศ" ช่วยระบายความร้อนจากร่างกายได้เป็นอย่างดี ดร.เคซีย์ ฮอลลิเดย์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์หรือสัตว์ที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน ล้วนต้องมีกลไกควบคุมุณหภูมิร่างกาย เพื่อกักเก็บความร้อน หรือระบายออกไป เพื่อไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายพุ่งขึ้นสูงหรือต่ำลงไปจนถึงขั้นเป็นอันตราย ทีมวิจัยได้ใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพด้วยความร้อนกับจระเข้ตีนเป็ดหรือแอลลิเกเตร์จำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกเลี้ยงอยู่ในฟาร์มที่รัฐฟลอริดา เพื่อศึกษาการถ่ายเทความร้อนบริเวณกะโหลกศีรษะของมัน เนื่องจากแอลลิเกเตอร์ก็มีรูใหญ่ตรงส่วนดังกล่าวเช่นเดียวกับทีเรกซ์ ซึ่งเป็นญาติที่อยู่ในวิวัฒนาการใกล้ชิดกัน ปรากฏว่า ภาพถ่ายความร้อนแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่บริเวณรูด้านบนของกะโหลกศีรษะ ซึ่งมีกลุ่มเส้นเลือดฝอยอยู่ในนั้นด้วย โดยเมื่ออากาศหนาวเย็นลง เพดานกะโหลกจะปรากฏ จุดร้อน ตรงที่รูดังกล่าว แสดงถึงการรักษาอุณหภูมิไว้ภายในเพื่ออบอุ่นร่างกาย แต่ในเวลาที่อากาศอบอ้าวจุดร้อนนั้นจะเปลี่ยนเป็นจุดมืดดำ แสดงถึงการให้ความเย็นกับร่างกาย 
 ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-49607617

ข่าวที่ 2

นักดาราศาสตร์ค้นพบน้ำเป็นครั้งแรกบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในเขตเกื้อหนุนสิ่งมีชีวิต


12 กันยายน 2562

ดาวเคราะห์

ทีมนักดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักรค้นพบว่า ดาว K2-18b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากโลก 111ปีแสง มีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในชั้นบรรยากาศ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบร่องรอยของน้ำ บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรอยู่ในเขตเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต(Goldilocks Zone) กล่าวคือดาวเคราะห์อยู่ในระยะห่างจากดาวฤกษ์อย่างพอเหมาะ ทำให้มีอุณหภูมิไม่ถึงขั้นร้อนจัดหรือเย็นจัดมากเกินไป จนน้ำสามารถคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ที่พื้นผิวดาวได้ ทีมนักดาราศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน หรือยูซีแอล (UCL)รายงานการค้นพบดังกล่าวในวารสารNature Astronomy โดยระบุว่าการค้นพบน้ำบนดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตอุณหภูมิเหมาะสมดังกล่าว ทำให้ดาว K2-18b กลายเป็นสถานที่เป้าหมายในการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวแห่งหนึ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้ ผลการวิเคราะห์แสงดาว K2-18b ขณะเกิดปรากฏการณ์ทรานซิต ชี้ว่ามีโมเลกุลของน้ำอยู่ในชั้นบรรยากาศปริมาณมาก โดยอาจมีน้ำเป็นองค์ประกอบได้สูงสุดถึง 50% เลยทีเดียว ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เหมาะสมต่อการเป็นแหล่งกำเนิดและอาศัยของสิ่งมีชีวิตคล้ายกับโลกอีกด้วย เช่นมีขนาดไม่ใหญ่โตจนเกินไป โดยมีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 2 เท่า และคาดว่ามีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 0-40 องศาเซลเซียส จัดว่าเป็นดาวเคราะห์ประเภทซูเปอร์เอิร์ธ (Super-Earth) คือมีขนาดใหญ่กว่าโลกแต่ไม่ใหญ่เกินขนาดของดาวน้ำแข็งอย่างเนปจูนและยูเรนัส

ข่าวที่ 1

เปิดเรื่องน่ารู้ หลุมดำ คืออะไร เพราะเหตุใดถึงเพิ่งถูกถ่ายภาพได้เป็นครั้งแรก

 หลุมดำ

          - ภาพของหลุมดำนี้ เป็นภาพจากแกนหมุนของหลุมดำ เนื่องจากหลุมดำมีแรงโน้มถ่วงสูงพอที่จะสามารถดึงให้แสงวนไปรอบ ๆ ได้ ที่ระยะห่าง 1.5 เท่าของขอบฟ้าเหตุการณ์ จะมีสิ่งที่เรียกว่า Photon Sphere อยู่ ซึ่งเป็นบริเวณสุดท้ายที่แสงจะสามารถโคจรไปรอบ ๆ หลุมดำได้ สิ่งที่ใกล้หลุมดำที่สุดที่เราจะสามารถเห็นได้จึงเป็นวงแหวนของ Photon Sphere ก่อนที่จะเข้าไปสู่ความมืดสนิท ถัดออกมาเราจะเห็นมวลก๊าซที่กำลังอยู่ในจานพอกพูนมวลที่กำลังตกลงไปสู่หลุมดำ นอกจากนี้ มวลที่กำลังหมุนในทิศทางที่หันมาหาผู้สังเกตจะมีความสว่างขึ้นเล็กน้อยดังที่ปรากฏในภาพทางด้านล่างของหลุมดำ
          - การบันทึกภาพหลุมดำ จำเป็นที่จะต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ขนาดใหญ่มาก ๆ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมเราจึงมีความพยายามที่จะสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนวิธีที่นักดาราศาสตร์ใช้ ก็คือวิธีที่เรียกว่า Interferometry โดยการรวมแสงจากระยะห่างที่ไกลมาก ๆ หากเราสามารถมีกล้องสองตัวที่อยู่ห่างกันหลายพันกิโลเมตร แล้วนำแสงที่ได้นั้นมารวมกัน เราก็จะสามารถจำลองภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่เป็นพันกิโลเมตรได้